การจัดเก็บข้อมูลลงบนแผ่นซีดีรอมกำลังได้รับความนิยม
ซีดีรอมหนึ่งแผ่นมีความจุในการเก็บข้อมูลได้มากกว่าหกร้อยล้านตัวอักษร ซีดีรอมจึงเป็นตัวกลางที่สามารถเก็บเอกสารหรือหนังสือขนาดเล่มโตหลายเล่มไว้ได้
ประจวบกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดสถานีบริการข้อมูลข่าวสาร
มีการเก็บเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ไว้บนเครือข่าย WWW ข้อมูลที่จัดเก็บมีลักษณะเป็นแบบสื่อประสม
ทั้งภาพ เสียง และวิดิโอ
สิ่งพิมพ์ที่เก็บในรูปสื่อดิจิตอลสมัยใหม่
จึงเก็บข้อมูลแบบมีชีวิตชีวา เป็นทั้งเอกสาร สิ่งพิมพ์ที่มีสีสรร มีเสียง
มีภาพเคลื่อนไหว ดังที่เราเห็นในชุดสารานุกรมของบริษัทไมโครซอฟต์ที่เก็บไว้บนแผ่นซีดีรอม
หรือที่พบเห็นบนโฮมเพจต่าง ๆ ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ซอฟต์แวร์ที่ใช้เรียกข้อมูลสิ่งพิมพ์ดิจิตอลมาดูหรือแสดงผล
เราเรียกว่า บราวเซอร์ บราวเซอร์จึงเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ดึงข้อมูลสิ่งพิมพ์ดิจิตอลนี้มาแสดงผล
ในลักษณะที่สวยงาม น่าดู
ในกรณีของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลสิ่งพิมพ์เก็บไว้ในเครื่องให้บริการที่เรียกว่า เซิร์ฟเวอร์ ถ้าเป็นสถานีบริการที่ให้บราวเซอร์เรียกดู
เราก็เรียกว่า เว็บเซิร์ฟเวอร์
ข้อมูลที่เก็บในเว็บเซิร์ฟเวอร์
หรือเก็บลงในแผ่นซีดีรอมเพื่อให้บราวเซอร์เรียกดูได้จึงต้องมีมาตรฐานกลาง
มาตรฐานเพื่อให้ผู้สร้างสิ่งพิมพ์ดิจิตอลใช้ได้ง่าย วิธีการสร้างที่ชัดเจน
โดยไม่ต้องพัฒนาโปรแกรมเรียกอ่านขึ้นเอง เหมือนการสร้างเว็บไซส์ในปัจจุบันที่ใครมีบราวเซอร์ก็เรียกดูได้
เบอร์เนอร์ลี หนึ่งในนักวิจัยฟิสิกส์ที่สวิตเซอร์แลนด์เสนอรูปแบบมาตรฐานที่เรียกว่า
HTML - Hyper Text Markup Language กลุ่มบริษัทไมโครซอฟต์ก็เสนอรูปแบบมาตรฐานที่ชื่อ
SGML - Standard Generarize Markup Language HTML ได้รับการนำมาประยุกต์ใช้บนอินเทอร์เน็ต
และแพร่หลายอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันถึงรุ่นที่
4
HTML เป็นวิธีการกำหนดรูปแบบสิ่งพิมพ์ดิจิตอล
โดยอาศัยป้าย (tag) กำกับ เช่นถ้าบริเวณใดต้องการให้เป็นหัวข้อ ตัวอักษรเล็กใหญ่
ต้องการใส่รูปภาพ เสียง ต้องการสร้างตัวเชื่อมโยงไปยังเอกสารอื่น ฯลฯ ก็กำหนดไว้ด้วยป้าย
มาตรฐานของป้ายที่ใช้กำหนดเอกสารมีความชัดเจนที่ บราวเซอร์ทุกตัวนำไปแปลความหมายได้ถูกต้อง
เมื่ออยู่บนอินเทอร์เน็ต จึงมีการพัฒนาวิธีการรับส่งข้อมูลระหว่างบราวเซอร์ซึ่งเป็นเครื่องสำหรับเรียกดู
กับ เว็บเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้เก็บเอกสารในรูปแบบ HTML วิธีการรับส่งข้อมูลนี้มีชื่อว่า
http หรือ Hyper Text Transfer Protocol ดังเราจะเห็นวิธีการเรียกดูข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต
ต้องมีข้อความ http นำหน้า
การสร้างเอกสารสิ่งพิมพ์ด้วยมาตรฐาน
HTML ไม่ใช่เรื่องยาก ผู้ที่เคยใช้เวิร์ดโปรเซสเซอร์แล้ว เรียนรู้การใส่ป้ายประกาศเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยก็สามารถสร้างสิ่งพิมพ์ในรูปดิจิตอลนี้ได้
และเพื่อให้การพัฒนาสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิตอลก้าวหน้าไปเร็วขึ้น บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์จำนวนมาก
จึงเรียงหน้ากันผลิตเครื่องมือเพื่อช่วยในการจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์ดิจิตอลตามมาตรฐาน
HTML นี้
เชื่อกันว่าห้องสมุดในยุคต่อจากนี้ไป
จะเป็นห้องสมุดที่เก็บสิ่งพิมพ์ในรูปแบบดิจิตอล สิ่งพิมพ์อาจอยู่ในเครือข่าย
WWW หรือเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ เก็บไว้ในซีดีรอม ที่เรียกดูได้ทันที
แนวคิดของการรวบรวมหนังสือแบบใหม่จึงกลายเป็นดิจิตอลไลบรารี่

เพื่อให้การเก็บเอกสารในรูปแบบดิจิตอลมีลักษณะกระทัดรัด
บริษัท อะโดบี (Adobe) จึงได้พัฒนาวิธีการบีบอัดข้อมูล และเก็บเอกสารหนังสือที่มีลักษณะเหมือนหนังสือจริงไว้เป็นแฟ้มได้
และให้ชื่อมาตรฐานใหม่ของตนเองว่า อะโครแบต (Acrobat) รูปแบบแฟ้มที่เก็บมีชื่อชนิดของแฟ้มว่า
.PDF
แฟ้มแบบอะโครแบตกำลังมีแนวโน้มที่ดี
ปัจจุบันมีผู้เก็บหนังสือ สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ไว้ในรูปแบบแฟ้มอะโครแบตกันมากเพิ่มขึ้น
ผู้ที่ท่องไปในอินเทอร์เน็ตจะพบเห็นข้อมูลมีลักษณะของหนังสือเป็นเล่มเก็บไว้ด้วยแฟ้ม
.PDF หากต้องการอ่านก็ต้องดาวน์โหลดมา เพื่อเปิดอ่านได้
สิ่งพิมพ์ที่เก็บในรูปดิจิตอลเป็นความหวังที่จะลดการใช้กระดาษ
โดยเฉพาะในยุคที่จะต้องมีสิ่งพิมพ์เกิดขึ้นมากมาย เชื่อว่าในไม่ช้าการรับหนังสือพิมพ์
ก็สามารถรับในรูปสื่อดิจิตอลที่สามารถเรียกเปิดอ่านได้เหมือนหนังสือพิมพ์จริง
โดยผ่านทางเครือข่าย
เขียนโดย : รศ. ยืน ภู่วรวรรณ |