วิสัยทัศน์ของผู้นำในการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐาน
(Infrastructure) เป็นเรื่องสำคัญ รองประธานาธิบดีอเมริกัน
(AL GORE) กล่าวไว้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์
พ.ศ. 2536 ดังนี้
"คุณกำลังจะได้เห็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
ความเจริญก้าวหน้านี้ได้ลบเส้นแบ่งเขตของอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะในเรื่องอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม
อุตสาหกรรมเคเบิล อุตสาหกรรมสื่อสาร การบริการข้อมูลข่าวสาร
ความบันเทิงอุปกรณ์สำนักงาน การผลิต โทรศัพท์...
พัฒนาการของเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นตามทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน
ที่มีการปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้ใช้
ประเทศชาติต้องวางโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้ออำนวยต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง
เพื่อความได้เปรียบในกลยุทธ์การแข่งขันและเพื่อให้ประชาชนในชาติและบริษัทต่าง
ๆ ได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเทคโนโลยีนี้"
พัฒนาการที่ยั่งยืนจะต้องวางรากฐานที่สำคัญไว้ก่อน
จากฐานที่มั่นคงจึงสามารถต่อยอดได้โดยไม่ล้มให้สร้างกันใหม่
การวางโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกองค์กรจะต้องคำนึงถึง
หากพิจารณากันที่องค์กร
การวางโครงสร้างพื้นฐานให้กับองค์กรเพื่อเอื้ออำนวยต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ
องค์กรจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะในเรื่องไอที
ปัจจุบันนี้การใช้งานไอทีของเราในหลายองค์กรมีลักษณะเป็นไปตามกระแสนิยม
เช่นเมื่อเห็นองค์กรส่วนใหญ่มีคอมพิวเตอร์ใช้
ก็รีบดำเนินการจัดซื้อหามาโดยที่ฐานการรองรับการใช้งานยังไม่พร้อม
เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมาก
พีซีที่ซื้อมาวันนี้... อีก 3 ปีข้างหน้าก็ล้าสมัยแล้ว
และถ้าเป็นเช่นนี้ก็คงจะต้องไล่ตามซื้อกันไม่รู้จบสิ้น
โครงสร้างพื้นฐานขององค์กรจึงเป็นเรื่องที่ผู้นำจะต้องตระหนักและมองเห็นภาพการพัฒนาที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้งานไอที
เพื่อความได้เปรียบโดยเน้นการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ภายในองค์กรมีสิ่งที่จะต้องพิจารณา
และจัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการใช้ไอทีหลายอย่าง
แต่ละอย่างมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
การพัฒนาต้องพัฒนาไปทั้ง "ห้าองค์ประกอบ"
นี้ ซึ่งได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ข้อมูล ข่าวสาร
คน และระเบียบพิธีปฏิบัติ
ฮาร์ดแวร์
(Hardware) หมายถึง เครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพ
และอำนวยความสะดวกในการทำงาน การวางรากฐานการใช้เครื่องมือสมัยใหม่
ใช้ระบบการประมวลผลที่ทำให้ทำงานได้รวดเร็วแม่นยำ
มีระบบการเชื่อมโยงสื่อสาร เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเดินทางไปถึง
และประสานการทำงานเป็นระบบได้ ฮาร์ดแวร์จึงรวมไปถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารข้อมูลต่าง
ๆ
ซอฟต์แวร์
(Software) เป็นสิ่งที่จะทำให้เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง
ๆ ขององค์กรที่ได้จัดหามา มีประโยชน์และทำงานได้ตามวัตถุประสงค์
การที่องค์กรลงทุนจัดหาอุปกรณ์การประมวลผลมาใช้
จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับซอฟต์แวร์
จึงจะทำให้เครื่องอุปกรณ์นั้นมีคุณค่าซอฟต์แวร์จึงมีความสำคัญเช่นกัน
ข้อมูลข่าวสาร
(Content) คือเนื้อหาสาระที่สำคัญ การดำเนินการขององค์กรเกี่ยวข้องกับการผลิต
การประมวลผล การสรุปผล การทำรายงาน การดำเนินการสื่อสารระหว่างกัน
การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นกับเนื้อหาของข้อมูลข่าวสาร
ดังนั้น ในองค์กรต้องให้ความสำคัญในเรื่องข้อมูลข่าวสาร
ทำอย่างไรจึงจะให้ข้อมูลข่าวสารเข้าไปโลดแล่นอยู่ในระบบและใช้งานได้อย่างเต็มที่
บุคลากร
(Peopleware) การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากร
มีการฝึกอบรมหรือดำเนินการให้บุคลากรหันมาให้ความสำคัญ
และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร
ความสามารถของบุคลากรจึงเป็นฐานสำคัญในการใช้ไอทีเพื่อประโยชน์ต่อองค์กรโดยรวม
ระเบียบวิธีการปฏิบัติ
(Procedure) บางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไป
จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยีสอดคล้องกับวิถีการทำงานแนวใหม่
กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ
หรืออาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานบางอย่างขององค์กร
บางองค์กรจึงมีการปรับเปลี่ยนขั้นรุนแรงถึงขั้นรือปรับระบบ
(Re-en-gineering) เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการทำงานแนวใหม่ที่มีไอทีเข้ามาสนับสนุน
พัฒนาการทั้ง "ห้าองค์ประกอบ" นี้ต้องไปด้วยกัน
จะเลือกองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไม่ได้
หากองค์ประกอบหนึ่งองค์ประกอบใดไม่ได้รับการพัฒนา
ย่อมทำให้ระบบโดยรวมขององค์กรมีปัญหา
เช่น มีการซื้อคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสารข้อมูลที่ทันสมัย
มีซอฟต์แวร์ที่ทำงานได้เป็นเลิศ แต่ ขาดการดำเนินการกับข้อมูลข่าวสารที่ดี
หรือเกือบจะไม่มีข้อมูลข่าวสารใด
การลงทุนนั้นก็ดูจะสูญเปล่า
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กรจึงต้องพัฒนาจากฐาน
โดยเน้นที่ "ห้าองค์ประกอบ" นี้เป็นสำคัญ
เหมือนเช่นรองประธานาธิบดี อัลกอร์ ได้กล่าวเน้นว่า
จะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างความได้เปรียบในกลยุทธ์การแข่งขันและสมาชิกทุกคนขององค์กรได้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยี
(ไอที) ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
เขียนโดย : รศ.ยืน ภู่วรวรรณ |