พระราชกรณียกิจและพระราชดำริด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช
การอาศัยทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะสั้น หากปราศจากความรอบรู้อย่างถ้วนทั่วและบริบูรณ์
เกี่ยวกับผลกระทบสืบเนื่อง จะส่งผลให้ธรรมชาติสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรวดเร็ว ประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่ง
นิเวศถิ่นฐานของพืชหลายชนิดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ก็ประสบปัญหานี้ด้วย ในขณะเดียวกัน ความก้าวหน้าทางวิชาการด้าน
เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรมก็ได้เสริมสร้างความหวังที่จะใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างยั่งยืน ฉะนั้น
การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพจึงได้รับความสนใจและความเอาใจใส่มากขึ้นตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ขยายกรอบงานของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
ให้ครอบคลุมโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย
ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์พืชพื้นเมืองที่มีความ
สำคัญทางเศรษฐกิจและกำลังจะสูญพันธุ์ โดยการจัดตั้งธนาคารพันธุกรรม (genebank) สำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลและแหล่งวัสดุ
ทางพันธุกรรมเพื่อการปรับปรุงพืช และเพื่อเสริมสร้างความพึงตนเองได้ในด้านเทคโนโลยีการปรับปรุงพืช อันจะเป็นประโยชน์ต่อ
เกษตรกรของประเทศ กลุ่มพืชในโครงการนี้ในระยะเริ่มแรก ได้แก่ ข้าว ถั่ว พืชไร่ ไม้ผล ผัก ไม้ประดับ และกล้วยไม้ ไม้ยืนต้นที่มี
ความสำคัญทางเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร และอื่น ๆ โดยจะอนุรักษ์ไว้ทั้งในรูปเมล็ดและเนื้อเยื่อ และจะทำการศึกษาค้นคว้าในระดับ
ชีววิทยาโมเลกุล พร้อมกับรวบรวมข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย
การอนุรักษ์ดินและน้ำ |
การบำบัดน้ำเสีย |
อาหารและโภชนาการ |
ยารักษาโรค |
การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช |
เชื้อเพลิงเขียวและปุ๋ยอินทรีย์