พระราชกรณียกิจและพระราชดำริด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
อาหารและโภชนาการ
พระราชประสงค์ประการแรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ คือ การทำให้ประเทศและ
พสกนิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ พึ่งตนเองได้ในด้านอาหาร ทั้งในเชิงปริมาณและ
คุณภาพทางโภชนาการ จึงได้พระราชทานพระราชดำริและทรงดำเนินพระราชกรณียกิจในด้านนี้เป็นอเนกประการตามแนวทาง
วิทยาศาสตร์ชีวภาพเป็นส่วนใหญ่ พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ที่มี
ความโดดเด่นเป็นพิเศษ ด้วยทรงตระหนักดีว่านมและผลิตภัณฑ์นมเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและผลิตได้ง่าย จึงสมควร
ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมเผยแพร่ให้ราษฎรรู้คุณค่าและนิยมบริโภคอย่างกว้างขวาง เมื่อรัฐบาลเดนมาร์กร่วมกับสมาคมเกษตรกร
เดนมาร์กได้ร่วมกันน้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งฟาร์มโคนมและศูนย์อบรมการเลี้ยง
โคนมไทย-เดนมาร์ก ขึ้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เมื่อ พ.ศ. 2504 ภายใต้ความช่วยเหลือของรัฐบาลเดนมาร์ก และทรงร่วม
กับสมเด็จพระเจ้าเฟดเดอริคที่ 9 แห่งประเทศเดนมาร์ก ในการประกอบพิธีเปิดฟาร์มและศูนย์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่
16 มกราคม พ.ศ. 2505 ต่อมารัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการทั้งหมดมาจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีชื่อว่า "องค์การส่งเสริมกิจการโคนม
แห่งประเทศไทย" สังกัดกระทรวงเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2514
เมื่อ พ.ศ. 2505 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สำหรับสร้างโรงโคนม
สวนจิตรลดาขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าและส่งเสริมเผยแพร่วิชาการ
เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม โดยเริ่มต้นจากการเลี้ยงลูกโคนมที่บริษัท เอสอาร์ จำกัด และกรมปศุสัตว์ น้อมเกล้าฯ ถวาย การศึกษาค้นคว้าดังกล่าวได้ส่งผล
ให้โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาสามารถผลิตนมสดออกจำหน่ายแก่โรงเรียนต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป พร้อมกับมีการจัดตั้ง
โรงนมผงสวนดุสิต ศูนย์รวมนมจิตรลดา และสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรีในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2512
นอกจากนี้ ได้มีพระราชดำริให้จัดตั้งหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ใกล้บริเวณทางผ่านจากอำเภอแก่งกระจาน
จังหวัดเพชรบุรี ไปยังอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2520 เพื่อบรรเทาปัญหาการก่อการร้ายและการขาดแคลน
ที่ดินทำกินของราษฎรในบริเวณนั้น ศูนย์ส่งเสริมการเลี้ยงโคนมห้วยทราย ตำบลสามพระยา จังหวัดเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2526
เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการทำกินฝืดเคือง
เนื่องจากป่าไม้ถูกทำลาย พร้อมกับเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าหารูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาการเกษตรควบคู่กันกับการพัฒนา
ป่าไม้
อเนกประสงค์และแหล่งน้ำ โรงนมเม็ดสวนดุสิต เมื่อ พ.ศ. 2527 โรงเนยแข็ง
สวนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2530 และโรงนม
ข้นหวาน เมื่อ พ.ศ. 2537 เพื่อใช้นมสดให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ พร้อมกับเพิ่มความหลากหลาย และมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์
นมไปด้วย
ตัวอย่างอื่น ๆ ของพระราชดำริและพระราชกรณียกิจด้านอาหารและโภชนาการตามแนวทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่
โครงการส่งเสริมให้ชาวเขาในภาคเหนือปลูกผักและผลไม้แทนการปลูกฝิ่น ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2512 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ
โครงการหลวง เป็นผลให้มีผักและผลไม้เมืองหนาวหลายชนิดวางจำหน่ายทั่วไปภายในประเทศในราคาไม่แพง และประชาชนทั่วไป
นิยมบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น โครงการแปรรูปผักและผลไม้ในโครงการส่วนพระองค์สวยจิตรลดา ซึ่งยังผลให้บังเกิดโรงอบแห้ง
ผักและผลไม้ โรงน้ำผลไม้พาสเจอร์ไรส์ และโรงน้ำผลไม้บรรจุกระป๋องขึ้นในบริเวณสวนจิตรลดา โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
ส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2533 และ พ.ศ.2535 เพื่อดัดแปลงผลิตผลจากพืชให้สามารถเก็บไว้ได้นาน
โดยไม่เสื่อมคุณภาพ และเพิ่มความหลากหลายและมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์จากพืชด้วย
โครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของพระราชดำริและพระราชกรณียกิจ
ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านอาหารและโภชนาการตามแนวทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยทรงให้ก่อสร้างบ่อเพาะเลี้ยงปลานิล
ขึ้นในบริเวณสวนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2508 เพื่อใช้เลี้ยงปลา Tilapia nilotica ที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโต แห่งประเทศญี่ปุ่น
ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร น้อมเกล้าฯ ถวาย ได้ทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองพบว่าเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย อดทน
เติบโตเร็ว และเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดีของมนุษย์ จึงได้พระราชทานชื่อปลาพันธุ์นี้ว่า "ปลานิล" เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509
และทรงให้ดำเนินการขยายพันธุ์แจกจ่ายให้ราษฎรนำไปเลี้ยงเป็นอาหารทั่วประเทศ ปัจจุบันมีบ่อเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลานิลในบริเวณ
สวนจิตรลดา 6 บ่อ และสามารถผลิตลูกปลานิลได้รวมทั้งสิ้น ปีละประมาณ 42,485 ตัว นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระราชดำริ
ให้กรมประมงดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์ปลาพื้นเมืองที่กำลังจะสูญพันธุ์อีกด้วย ได้แก่ ปลากระโห้ และปลาบึก สำหรับปลากระโห้ได้
พระราชทานปลาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เพื่อการนี้ ส่วนปลาบึก ทรงให้ใช้พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่มีอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ พระราชดำริ
นี้เป็นผลให้กรมประมงสามารถผลิตลูกปลากระโห้ และลูกปลาบึกจำนวนมากออกแจกจ่ายแก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไป
เพาะเลี้ยงเป็นอาหารและขยายพันธุ์ต่อไป เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาได้ดำเนินการศึกษา
ค้นคว้าหาสูตรอาหารที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงสาหร่ายเกลียวทอง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ดียิ่งของปลา และพบว่าสูตรอาหารที่
ประกอบด้วยวัสดุเหลือใชืทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ รำละเอียด ปลายข้าว กากถั่ว ปลาป่น ใบกระถิน ผสมกับสาหร่าย
เกลียวทองในสัดส่วน 5 % เร่งการเจริญเติบโตและเพิ่มสีสันให้แก่ปลาเป็นอย่างดี
การศึกษาค้นคว้าหาที่เหมาะสมในการเพาะเห็ดในถุงพลาสติก เพื่อเป็นอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่วนพระองค์
สวนจิตรลดา เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านอาหารและโภชนาการตามแนวทาง
วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ทรงให้สร้างโรงเพาะเห็ดขึ้นในบริเวณสวนจิตรลาด เมื่อ พ.ศ. 2541 และใช้โรงเรือน ดังกล่าวศึกษาหาวิธีที่
เหมาะสมในการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรและวัชพืชเพาะเห็ดควบคู่กับการศึกษาหาชนิดและสายพันธุ์เห็ดที่ทนทานต่อโรค
และให้ผลผลิตสูง หาสูตรอาหารที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยง และหาข้อเด่นและข้อด้อยต่าง ๆ ของการเพาะเห็ดในโรงเรือน
การอนุรักษ์ดินและน้ำ |
การบำบัดน้ำเสีย |
อาหารและโภชนาการ |
ยารักษาโรค |
การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช |
เชื้อเพลิงเขียวและปุ๋ยอินทรีย์