พระราชกรณียกิจและพระราชดำริด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ
การอนุรักษ์ดินและน้ำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักดีว่าการพังทลายของดินอันสืบเนื่องมาจากน้ำไหลบ่าตามผิวดินเป็นสาเหตุหลัก
ของการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ และส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตรของประเทศต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงเป็นปัญหา
ที่สมควรได้รับการแก้ไขป้องกันโดยเร็ว ด้วยการนำมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสมมาใช้ มาตรการหนึ่งที่ได้ทรงแนะนำ ได้แก่
มาตรการหญ้าแฝก โดยได้พระราชทานพระราชดำริเป็นครั้งแรกแก่เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่อง
มาจากพระราชดำริ (ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2534 และต่อมาก็ได้พระราชทานพระราชดำริแก่ผู้เกี่ยวข้อง
ในวาระต่าง ๆ พระราชดำริดังกล่าวมีประเด็นสำคัญโดยสรุปดังนี้

"….หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึก แผ่กระจายลงไปในดินตรง ๆ เป็นแผงเหมือนกำแพง ช่วยกรองตะกอนดินและรักษา
หน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษาและทดลองปลูกในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและพื้นที่อื่น ๆ ที่
เหมาะสมอย่างกว้างขวาง โดยพิจารณาจากลักษณะของภูมิประเทศ คือ บนพื้นที่ภูเขา ให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของความ
ลาดชันและในร่องน้ำของภูเขา เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บกักความชื้นของดินไว้ด้วย บนพื้นราบ ให้ปลูก
หญ้าแฝกรอบแปลงหรือปลูกในแปลง ๆ ละ 1 หรือ 2 แถว ส่วนแปลงพืชไร่นา ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ เพื่อที่รากของ
หญ้าแฝกจะอุ้มน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน และหญ้าแฝกจะเป็นตัวกักเก็บไนโตรเจนและกำจัดสิ่งเป็นพิษหรือสาร
เคมีอื่น ๆ ไม่ให้ไหลลงไปในแม่น้ำลำคลอง โดยกักให้ไหลลงไปใต้ดินแทน การปลูกรอบพื้นที่เก็บกักน้ำ เพื่อป้องกันดินพังทลาย
ลงไปในอ่างเก็บน้ำ ทำให้อ่างเก็บน้ำไม่ตื้นเขิน ตลอดจนช่วยรักษาหน้าดินเหนืออ่าง และช่วยให้ป่าไม้ในบริเวณพื้นที่รับน้ำสมบูรณ์
ขึ้นอย่างรวดเร็ว ในบริเวณที่มีหญ้าคาระบาด ควรทำการศึกษาดูว่าหญ้าแฝกจะสามารถควบคุมหญ้าคาได้หรือไม่ พื้นที่เหนือแหล่งน้ำ
ควรปลูกเพื่อเป็นแนวป้องกันตะกอนและดูดซับสารพิษต่าง ๆ ไว้ในรากและลำต้นได้นานจนสารเคมีนั้นสลายตัวเป็นปุ๋ยสำหรับพืช
ต่อไป ทั้งนี้ ให้บันทึกภาพก่อนดำเนินการและหลังดำเนินการไว้เป็นหลักฐาน ส่วนผลของการศึกษาทดลอง ควรเก็บข้อมูลทั้งทาง
ด้านการเจริญเติบโตของลำต้นและราก ความสามารถในการอนุรักษ์และเพิ่มความสมบูรณ์ของดิน การเก็บความชื้นของดิน และ
ด้านพันธุ์ต่าง ๆ ของหญ้าแฝกด้วย…."
หญ้าแฝกเป็นพืชในวงศ์หญ้าที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ทั้งในที่ลุ่ม ที่ดอน และในดินเกือบ
ทุกชนิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vetiveria zizanioides มีลักษณะการเติบโตเป็นกอที่หนาแน่น แตกกอรวดเร็ว กอมีเส้นผ่าศูนย์กลาง
ประมาณ 30 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 50-150 เซนติเมตร ใบแคบ ค่อนข้างแข็ง กว้างประมาณ 0.80 เซนติเมตร และยาว
ประมาณ 75 เซนติเมตร
แนวพระราชดำริดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้หญ้าแฝกมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ดินและน้ำของประเทศ ได้พระราชทานทรัพย์
ส่วนพระองค์ จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ธนาคารโลก เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับหญ้าแฝกด้วย ธนาคารโลกได้
เผยแพร่พระราชกรณียกิจ เรื่อง หญ้าแฝกในจดหมายข่าวหญ้าแฝก (Vetiver Newsletter) ฉบับที่ 11 ประจำเดือนมิถุนายน
พ.ศ. 2537 และสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำนานาชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติเป็นพระมหากษัตริย์นักอนุรักษ์ดิน
และน้ำดีเด่นของโลก ในปีเดียวกันนี้ด้วย
ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถวายเอกสารเรื่องหญ้าแฝกแด่สมเด็จพระศรีนครินทรา
บรมราชชนนี ณ วังสระปทุม ในขณะเสด็จฯ เข้าเฝ้าฯ พร้อมกับทรงอธิบายถึงคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของหญ้าแฝกในด้านการ
อนุรักษ์ดินและน้ำ จากผลการศึกษาทดลองในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั่วประเทศ สมเด็จพระศรีนครินทรา
บรมราชชนนีจึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการพัฒนาหญ้าแฝกในโครงการพัฒนาดอยตุงเพื่อแก้ปัญหาการชะล้างและพัง
ทลายของดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536
และทรงพบว่าการทดลองปลูกหญ้าแฝกในที่ลาดเอียงให้ผลน่าพอใจ รากหญ้าแฝกยาวถึง 3 เมตรในเวลา 8 เดือน และระบบ
รากแผ่กระจายในดินตลอดความลึก 3 เมตร และความกว้าง 50 เซนติเมตร ภายใต้กอ
อีกตัวอย่างหนึ่งของพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับหญ้าแฝก ซึ่งได้พระราชทานแก่เลขาธิการ
คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.
2536 มีใจความว่า "….การปลูกหญ้าแฝก ถ้าปลูกกอเล็ก ควรปลูกให้ใกล้และชิดกันจะได้ผลเร็วกว่าและสิ้นเปลืองน้อยกว่าการปลูกกอใหญ่
และมีระยะห่างกัน และควรปลูกตามความห่างของแถวในแนวลาดเทประมาณเท่าความสูงของคน คือ 1.50 เมตร และทำแถวให้
ขนานกับทางลาดเทด้วย…."
ในโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มตามแนวพระราชดำริ ที่อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกไว้ ซึ่งมีใจความสรุปได้เป็น 6 ประการ คือ (1) ควรปลูกหญ้าแฝกล้อมรอบไม้ผล เพื่อป้องกันไม่ให้ดินรอบ ๆ ต้นไม้เป็นหลุม ในขณะเดียวกันก็ใช้ใบหญ้าแฝกที่ตัดออกจากกอมาคลุมดินรอบ ๆ ต้นไม้ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ต้นไม้ได้อีกด้วย และ (2) การปลูกหญ้าแฝกในแปลงเพาะปลูกพืชสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ปลูกโดยรอบแปลง ปลูกในแปลง ๆ ละ 1 หรือ 2 แถว และปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทั้ง 6 แห่ง ทดลองปลูกหญ้าแฝกสายพันธุ์ต่าง ๆ ด้วย ผลการทดลองดังกล่าวที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง คือ เมื่อปลูกหญ้าแฝกระหว่างแถวของข้าวโพด และถั่วลิสง ในพื้นที่ที่มีความลาดเท 5% มีการสูญเสียหน้าดินเพียง 0.92 - 2.27 ตันต่อไร่ต่อปี ในขณะที่พื้นที่ลาดเทเท่ากัน แต่ไม่มีการปลูกหญ้าแฝก มีการสูญเสียหน้าดิน 5.27 ตันต่อไร่ต่อปี นอกจากนี้ พื้นที่ที่ปลูกหญ้าแฝกยังรักษาความชุ่มชื้นของดินได้มากกว่าอีกด้วย
หญ้าแฝกที่เจริญเติบโตได้ดีในดินประเภทต่าง ๆ ได้แก่ สายพันธุ์กำแพงเพชร 1 และ 6 สงขลา 3 นครสวรรค์ ร้อยเอ็ด และราชบุรี สำหรับดินทราย สายพันธุ์ศรีลังกา กำแพงเพชร 2 สุราษฎร์ธานี สงขลา 3 และเลย สำหรับดินลูกรัง กับสายพันธุ์สุราษฎร์ธานี สงขลา 3 เลย และนครสวรรค์ สำหรับดินร่วนและดินเหนียว
การอนุรักษ์ดินและน้ำ |
การบำบัดน้ำเสีย |
อาหารและโภชนาการ |
ยารักษาโรค |
การอนุรักษ์ทรัพยากรพันธุกรรมพืช |
เชื้อเพลิงเขียวและปุ๋ยอินทรีย์